บอร์ดอีวีเคาะ 2.4 หมื่นล้าน ส่งเสริมตั้งโรงงานแบตเตอรี่
คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เห็นชอบหลักการของมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตแตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1%

สำหรับมาตรการด้านแบตเตอรี่ถือเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าต่างรอความชัดเจน เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากหากมีราคาถูกลงจะช่วยในการส่งเสริม Ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้าได้ เพื่อให้เป็น New S-Curve ที่จะกลายเป็นอนาคตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ GDP ของประเทศไทย และเพิ่มอัตราการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อีกด้วย โดยเงินสนับสนุนดังกล่าว จะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh
FTA ไทย – เอฟตา เจรจา รอบ 3 คืบหน้าตามแผน
ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 24-27 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ หลังจากที่ไทยและ EFTA (เอฟตา) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์

ได้เปิดการเจรจา FTA ในเดือนมิถุนายน 2565 และได้ประชุมไปแล้ว 2 รอบ เมื่อเดือนมิถุนายนและพฤศจิกายน 2565 สำหรับการหารือครั้งนี้ มีความคืบหน้าด้วยดี ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาภายในปี 2567 โดยวางแผนประชุมทุกๆ 2-3 เดือน เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าบรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งในปีนี้จะมีการเจรจาอีก 4 รอบ คือ เดือนเมษายน มิถุนายน กันยายน และพฤศจิกายน
บอร์ด ก.ล.ต. ไม่ต่ออายุเลขาธิการ “รื่นวดี สุวรรณมงคล”
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 ไม่ต่ออายุงานของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ในตำแหน่งเลขาธิการก.ล.ต. ที่จะครบวาระในวันที่ 1 พ.ค.2566

ด้วยมติด้วยคะแนน 6:4 จากคณะกรรมการบอร์ด ก.ล.ต. รวมทั้งหมด 10 คน ไม่นับรวมตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. รายงานข่าวระบุว่า การไม่ต่ออายุงานของเลขาธิการ ก.ล.ต.ครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างกรรมการ กับ เลขาธิการ ก.ล.ต. ในทางความคิด และจุดยืนในการทำงาน
เดินหน้าเก็บภาษีขายหุ้นหลังยกเว้นมากว่า 30 ปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กฎหมายจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาและรอทูลเกล้าฯ แต่บอกไม่ได้ว่าจะประกาศเมื่อไหร่ สำหรับการจัดเก็บภาษีขายหุ้น แบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% (0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น)

ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป โดยประเทศไทยได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมามากกว่า 30 ปี ซึ่งการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย
SCC ออกหุ้นกู้ชุดใหม่ 1.5 หมื่นล้าน ขายผู้ถือหุ้น-นักลงทุนทั่วไป
บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เตรียมออกหุ้นกู้ 15,000,000 หน่วย มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท ราคาที่เสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี 11 เดือน 29 วัน ซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ภายหลัง โดยจะเสนอขายทั่วไป ได้แก่ (1) ผู้ถือหุ้นกู้ SCC234A (2) ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่น และ/หรือผู้ถือหุ้นกู้ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) และ/หรือ ผู้ถือหุ้นกู้ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) และ (3) ผู้ลงทุนประชาชนทั่วไป

ระยะเวลาเสนอขาย สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ SCC234A: วันที่ 3 และ 7 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2566 สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ปัจจุบัน : วันที่ 27 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2566 สำหรับผู้ลงทุนประชาชนทั่วไป : วันที่ 30 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2566 ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 อยู่ที่ A+(tha)