กระแสดราม่าร้อนฉ่าของ ลิซ่า Blackpink ในโลกออนไลน์ ดันให้แฮชแท๊ก #มูนคาเฟ่ชั้นต่ำ กลายเป็นเทรนด์ฮิตอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ที่มีคนทวีตถล่มทลายกว่า 3 แสนครั้ง ตลอดช่วงกลางดึกที่ผ่านมา
พลังของเหล่าบรรดา บลิ้งค์ แฟนคลับของสาว ลิซ่า Blackpink ทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างไม่พอใจต่อพฤติกรรมการคุกคามทางเพศของหนุ่มเจ้าของร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งย่านศรีนครินทร์และกลุ่มเพื่อนๆ ของเขาที่ได้มีการโพสต์ภาพข้อความพร้อมคอมเม้นต์ผ่านสื่อโซเชียลกันอย่างสนุกสนาน
ข้อความดังกล่าว เจ้าของร้านคาเฟ่มีการนำภาพของลิซ่าที่ไปร้านคาเฟ่แห่งนั้น พร้อมกับประกาศขายสินค้าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องที่ศิลปินสาวได้สัมผัสอย่างขำขัน ซึ่งข้อความคอมเม้นต์ของผู้ชายส่วนใหญ่ในโพสต์ต่างแสดงความเห็นในเชิงตลกร้าย ไม่สร้างสรรค์
การกระทำเหล่านี้จึงเป็นผลให้กลุ่มบลิ้งค์แฟนคลับจำนวนมากได้ทวีตส่งต่อข้อความเพื่อบอยคอต ไม่ให้เกิดการสนับสนุนธุรกิจของร้านคาเฟ่แห่งนี้อีกต่อไป
เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนให้เจ้าของร้านคาเฟ่ต้องออกมาโพสต์ข้อความแสดงการขอโทษด้วยความจริงใจ และยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า หากเจ้าของร้านคาเฟ่ดังกล่าว มีการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหรือวิกฤติของธุรกิจได้ดี (crisis management) ก็อาจจะพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นเชิงบวกได้ดีกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่
และหากทางร้านมีกานำภาพของศิลปินสาวสัญชาติไทย อย่าง “ลิซ่า Blackpink” มาโพสต์อย่างสร้างสรรค์ตั้งแต่แรก ก็น่าจะส่งผลดีต่อทางร้านเป็นอย่างมาก เพราะได้โปรโมทร้านคาเฟ่ของตัวเองผ่านพรีเซนเตอร์คนดังระดับโลกได้ฟรีโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน ในขณะที่แบรนด์ต่างๆ ต้องทุ่มเงินจ้างลิซ่าสำหรับการเป็นพรีเซนเตอร์ในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมูลค่าหลายล้านบาท
ปัจจุบันลิซ่าถือเป็น 1 ในสมาชิกศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีชั้นนำที่ดังไกลระดับโลกและยังเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ มากมาย
ลิซ่ามียอดผู้ติดตาม follower ผ่าน instagram @lalalalisa_m มากถึง 28 ล้านคน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ข้อมูลต่างๆ ที่โพสต์ผ่านโซเชียลออนไลน์ล้วนเป็นดาบ 2 คม หากผู้โพสต์ โพสต์ข้อความที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ ในเชิงบวก ผู้คนในโลกออนไลน์ก็พร้อมที่จะกดไลค์และแชร์ข้อมูลส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นผลดีในการสร้าง “คนดัง” และ “ธุรกิจปัง” ให้เป็นกระแสมีชื่อเสียงเพียงชั่วพริบตามาแล้วอย่างมากมาย
ขณะเดียวกัน การโพสต์ข้อความที่แสดงถึงทัศนคติไม่ดีหรือพฤติกรรมในเชิงลบ ก็ยังสร้างผลร้ายให้กับใครหลายๆ คน เห็นได้จากหลายๆ ตัวอย่างที่ผ่านมาทั้งนักแสดง คนดัง หรือ แม้กระทั่งชาวบ้านทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตและทางอ้อมที่ได้รับผลเสียต่อหน้าที่การงานและธุรกิจ
สำหรับเรื่องการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีการอธิบายถึงพฤติกรรมดังกล่าวว่า การกระทำที่เข้าข่ายนี้ ไม่ได้หมายความถึงแค่ การกระทำ หรือ คำพูดเท่านั้น แต่ยังรวมถึง พฤติกรรรมที่แสดงออกผ่านการแชทหรือตัวอักษรด้วย