“ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)” ได้เปิดผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย ในเดือนต.ค.64 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน แต่เห็นสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยในภาคการผลิตและการค้า จากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดได้ดีขึ้น และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯ โดยการปรับลดพื้นที่คุมเข้มและลดเวลาเคอร์ฟิว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมามากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ช่วยให้ความเชื่อมั่นและการบริโภคปรับดีขึ้น
ทั้งนี้กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ระดับช่วงก่อนโควิดและผู้ประกอบการกังวลด้านกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในเดือนต.ค.นี้ โดยผู้ตอบในภาคที่ไม่ใช่การผลิตแสดงความกังวลมากกว่าภาคการผลิตอย่างชัดเจน สอดคล้องกับระดับการฟื้นตัวที่ต่ำกว่า ส่วนหนึ่งจากการที่ต้องพึ่งพิงกำลังซื้อในประเทศเป็นหลักและเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การรอโปรโมชั่นมากขึ้น ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อที่เปราะบาง จำนวนและรายได้แรงงานทรงตัวในภาคการผลิต ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานในภาคที่ไม่ใช่การผลิตปรับลดลงบ้าง สอดคล้องกับสัดส่วนการใช้นโยบายสลับกันมาทำงานและลดชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้นในเดือนต.ค.นี้
นอกจากนี้ยังสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนต.ค. 64 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะการขยายเวลาเปิดให้บริการของธุรกิจ เช่น กลุ่มร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า พร้อมกับข่าวการเปิดประเทศ ในช่วงไตรมาส 4 ผู้ประกอบการเร่งทำโปรโมชั่นเพิ่มขึ้น เพื่อหวังกระตุ้นยอดขายในช่วงส่งท้ายปี
ขณะเดียวกันประเมินแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเดือนต.ค.มีผู้ประกอบธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการหลังจากผ่อนคลายแล้ว 82% มี 23% มีสภาพคล่องเพียงพอไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งทรงตัวจากเดือนก่อน และมีถึง 51% เกินครึ่งมีประชาชนแนวโน้มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากผลของการทำโปรโมชั่นของร้านค้า ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ และการแพร่ระบาดที่บรรเทาลง ผลของการอั้นซื้อ และรายได้ที่ทยอยฟื้นตัว
“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า กำลังซื้อปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมและมีนโยบายเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่อยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่รอโปรโมชั่นพิเศษจากร้านค้าและแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากขึ้น และความต้องการจับจ่ายใช้สอยประชาชนมีมากขึ้นหลังจากมีค่อนข้างจำกัดในช่วงการระบาดก่อนหน้านี้”