Forever 21 ร้านค้าปลีกเสื้อผ้าวัยรุ่นแห่งสหรัฐ ยื่นขอความคุ้มครองภายใต้ภาวะล้มละลาย หลังจากก่อตั้งเมื่อปี 2527 หรือ 35 ปีที่แล้ว เพื่อขายเสื้อผ้าราคาถูก และไปเปิดร้านตามห้าง 541 แห่งในสหรัฐ
มาในวันนี้บริษัทมีแผนปิดสาขา 350 แห่งทั่วโลก รวมถึง 178 แห่งในสหรัฐ และสาขาส่วนใหญ่ในเอเชียกับยุโรป แต่ยังคงการดำเนินงานในเม็กซิโกกับละตินอเมริกาไว้
ครั้งหนึ่ง วัยรุ่นพากันไปชอปปิงที่ Forever 21 จนทางร้านขยายสาขาอย่างรวดเร็วหลังจากปี 2551 อันเป็นช่วงเดียวกับที่การชอปปิงเริ่มไปอยู่ทางออนไลน์ สวนทางกับร้านอื่นที่ลดขนาดร้าน บ้างก็ปิดไป แต่บริษัทกลับเดินหน้าเปิดสาขา บางแห่งมีขนาดใหญ่กว่าปกติ และนำเสื้อผ้าผู้ชาย รองเท้า ชุดชั้นใน เสื้อผ้าไซส์ใหญ่ มาวางจำหน่ายเพื่อให้สินค้าเต็มร้าน
สถานการณ์กลับกลายเป็นว่าสาขาในแคนาดา สหรัฐ และยุโรป ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายทั่วโลกลดลงเหลือ 3,100 ล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือนสิ้นสุดเมื่อเดือนก.ค.
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ร้านค้าปลีกในสหรัฐประกาศปิดสาขาไปกว่า 8,200 แห่ง เกินหน้าปีที่แล้วที่ปิดไป 5,589 แห่ง โดยร้านอย่าง Payless กับ Gymboree ยื่นขอความคุ้มครองการดำเนินงานภายใต้ภาวะล้มละลายเป็นครั้งที่ 2 แล้ว และปิดสาขากันไปเกือบ 3,000 แห่ง
Coresight Research คาดว่าร้านค้าปลีกจะปิดสาขากันอีกปีนี้ และอาจมากถึง 12,000 แห่งกว่าจะถึงสิ้นปี
Forever 21 ก่อตั้งโดยสองสามีภรรยาที่อพยพมาจากเกาหลีใต้ จับตลาดหญิงสาวที่มิกซ์แอนด์แมทช์เสื้อ กระโปรง กางเกงพื้นๆ ถือเป็นการเติมเต็มรูปแบบ fast-fashion หรือเสื้อผ้าสไตล์ใหม่ๆ ที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็วในราคาไม่แพง
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง แฟชันแบบยั่งยืนได้เข้ามาสร้างกระแส โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญว่าเสื้อผ้าที่ซื้อนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน อันส่งผลให้แบรนด์ที่ยั่งยืนอย่าง Reformation เติบโตขึ้น
ล่าสุดกองทุน Permira Funds ได้เข้าถือครอง Reformation ด้วยเหตุผลว่ามีการผสมผสานกันอย่างดีระหว่างแฟชั่นกับความยั่งยืน อันนับว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ซึ่งพอเข้าถือครองแล้ว จะได้มีการเปิดสาขาในแคนาดาและอังกฤษต่อไป
นอกจากแบรนด์ที่เน้นความยั่งยืนแล้ว บรรดาเว็บไซต์เสื้อผ้ามือสองก็ได้รับความนิยมอย่างพุ่งพรวด อย่าง The Real Real , ThredUP จนบริษัทวิเคราะห์ค้าปลีก GlobalData คาดว่าภายในปี 2571 หรืออีก 9 ปี ตลาดเสื้อผ้ามือสองในสหรัฐ จะมีมูลค่าถึง 64,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนตลาด fast-fashion จะอยู่ที่ 44,000 ล้านดอลลาร์