รายงานล่าสุดของ “คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)” ระบุถึง สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยว่าในไตรมาส 1/62 พุ่งขึ้นมาอยู่ 12.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ของ GDP โดยเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส


หากเอาจำนวนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/62 หารด้วยจำนวนประชากรไทย โดยอ้างอิงจากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ประมาณ 66.4 ล้านคน เท่ากับว่าคนไทยมีมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 195,000 บาท
“นายทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า “หนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และเป็นอันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศ โดยหนี้ที่ต้องจับตา คือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งหนี้บัตรเครดิต และรถยนต์ มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลง จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้มากขึ้น”
โดยภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในระดับสูง 9.2% โดยมียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 7.8% และยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 10.2%
ส่วนยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2/62 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์ 32.3% และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 12.5% และสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 สภาพัฒน์คาดว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ แต่ด้านคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อลักษณะที่ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติ รวมถึงมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่าที่แท้จริง ทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น
แบงก์ชาติชี้ “หนี้ครัวเรือน” สะท้อนการขาดภูมิคุ้มกัน
“นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นประเด็นที่ ธปท. แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง เพราะหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางและการขาดภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ (Income Shock) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้
แม้มาตรการที่ ธปท. ออกในช่วงก่อนหน้า เช่น มาตรการ LTV จะส่งผลดีทำให้การก่อหนี้ในหมวดดังกล่าวชะลอลง แต่ยังคงต้องติดตามภาวะหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความสามารถในการรองรับ income shock ของภาคครัวเรือนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอลง
คนไทยเป็นหนี้ยันแก่
หากย้อนไปดูงานวิจัยของ “สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อี๊งภากรณ์” ที่พบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้อย่างยาวนานตั้งแต่อายุน้อยๆ ไปจนแก่ โดยสัดส่วนคนที่เป็นหนี้มากที่สุดคือ “กลุ่มคนวัยทำงาน ช่วงอายุ 25-35 ปี” ซึ่งเป็นหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค และหนี้บัตรเครดิต และมีถึง 1 ใน 5 ที่เป็นหนี้เสียกระจุกตัว โดยเฉพาะหนี้ส่วนบุคคลที่กู้ได้ง่าย
ในขณะที่ปริมาณหนี้ต่อหัวก็เพิ่มสูงขึ้น และสูงขึ้นตลอดการทำงาน นั่นแปลว่ายิ่งทำงาน ยิ่งมีรายได้เพิ่ม ก็ยิ่งสร้างหนี้เพิ่มขึ้น แม้เข้าสู่วัยเกษียณระหนี้ก็ไม่ได้ลดลง
หากแยกย่อยลงไปตามแหล่งที่มาของเงิน จะพบว่าคนไทยกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์มากที่สุดถึง 43% รองมาเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐ 28% กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ 16% และจาก Non-Bank 10% ส่วนที่เหลือมาจากแหล่งอื่นๆ 3%