นิคมอุตสาหกรรมจัดทัพรับสัญญาณการลงทุนจากต่างชาติทยอยฟื้นตัว “อมตะ” คาดยอดขายพื้นที่ปี 66 โต 10% WHA ทุ่ม 5 หมื่นล้าน วางแผนยาว 5 ปี กนอ.ออกแพกเกจเพิ่มยอดขาย บีโอไอมั่นใจแตะ 6 แสนล้าน
“อมตะ” คาดยอดขายพื้นที่พุ่ง10%
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า แนวโน้มการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทปี 2566 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปี 2565 ซึ่งมียอดขายที่ดินในประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมาย 700 ไร่ หลังเห็นสัญญาณการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ที่นักลงทุนเริ่มใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อาจจะกระทบการลงทุนแต่เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตเป็นการลงทุนที่มองระยะยาว
WHA ทุ่ม 5 หมื่นล้านลงทุน 5 ปี
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ 50,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ เพื่อผลักดันรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 21,000 ล้านบาทในปี 69 ประกอบด้วย งบลงทุนสำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 18,000 ล้านบาท ธุรกิจโลจิสติกส์ 18,000 ล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 10,000 ล้านบาท และอีก 4,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจสตาร์ทอัพและเทคโนโลยี สำหรับยอดขายที่ดินในนิคมฯเบื้องต้น บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในปี 65 จะมียอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั้งในไทยและเวียดนามเพิ่มขึ้นราว 46% แตะ 1,250 ไร่ จากปี 64 แม้จะมีข้อจำกัดด้านการเดินทางแต่ยอดขายที่ดินในไทยยังทำได้สูงถึง 855 ไร่
“กนอ.” ออกแพกเกจหนุน 4 นิคมฯ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยปี 2566 กนอ.เปิดรับศักราชใหม่ด้วยการจัดโปรโมชันส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ในส่วนพื้นที่รับเบอร์ซิตี้ จังหวัดสงขลา, นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (ระยะที่ 1) จังหวัดสงขลา, นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จังหวัดพิจิตร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ลดภาระต้นทุนการลงทุนของผู้ประกอบการ ทั้งการยกเว้นค่าบริการ ค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก เชื่อว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากหลายประเทศ เช่น จีน และซาอุดีอาระเบีย ที่นักลงทุนมีความมั่นใจต่อศักยภาพของประเทศไทย เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งเหมาะสมเอื้อต่อการลงทุน ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาลก็เป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดที่สำคัญ หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ ก็ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย เชื่อว่าการออกแพกเกจครั้งนี้จะสามารถจูงใจนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในปีนี้ฟื้นตัวได้ตามเป้าอย่างแน่นอน โดยมาตรการดังกล่าวครอบคลุมทั้งนักลงทุนรายเก่าและรายใหม่
บีโอไอคาดยอดแตะ 6 แสนล้าน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนปี 2566 ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาระดับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท เนื่องจากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ไม่อยู่ในความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า BCG พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 นับว่าเป็นมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด