อินเทลเชื่อว่า ในปี 2563 นี้ 5G จะเข้ามาพลิกเกมธุรกิจในประเทศไทยในหลายสาขา และ IoT จะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
อินเทลจะร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และผู้นำในอุตสาหกรรม IoT เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการพลิกโฉมเครือข่ายและสร้างรากฐานให้กับเครือข่าย 5G ด้วยความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ทำให้อินเทลสามารถช่วยพัฒนาวงการอุตสาหกรรมสู่ 5G ได้
ซานโตช วิศวะนาธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า อินเทลมุ่งเน้นการช่วยเหลือบริษัทต่างๆ สร้างมูลค่าทางธุรกิจจากข้อมูลที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ผ่านการให้บริการด้านโซลูชัน Data-Centric ซึ่งได้รับการปรับเปลี่ยนให้เคลื่อนย้ายข้อมูลเร็วขึ้น จัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและประมวลผลทุกอย่างได้อย่างฉับไว โดยคาดว่าจากข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก มีเพียง 2% เท่านั้นที่ได้ถูกนำไปวิเคราะห์ จึงยังมีโอกาสอีกมากที่จะสามารถนำข้อมูลที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ขับเคลื่อนธุรกิจและนำมาต่อยอดเป็นข้อมูลเชิงลึกทางสังคม
-Intel เปิดตัว Core รุ่นที่ 10 เจาะตลาด Gaming และ Prosumer
ในปี 2563 อินเทลเดินหน้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทั้งประเภทเครื่องลูกข่ายและเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทั่วโลก และทำงานกับพันธมิตรผ่านโปรแกรม Intel Partner Alliance เพื่อรองรับการใช้งาน คลาวด์ และ เอดจ์ คอมพิวติ้ง ที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว การเปิดตัวของ 5G การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ และการวิเคราะห์ข้อมูล
เป้าหมายของอินเทล คือ เตรียมความพร้อมให้พาร์ตเนอร์สามารถใช้ประโยชน์จากการทำ Data-Centric เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ โดยมีพันธมิตรเกือบ 1,500 รายในประเทศไทย
5G พลิกเกมธุรกิจในอนาคต
5G จะช่วยสร้างรากฐานให้กับการบริการต่างๆ ที่ใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลและแอปพลิเคชันที่ทำงานสลับซับซ้อนบนระบบคลาวด์ ให้สามารถทำงานส่งข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้น และลดความหน่วงของการส่งข้อมูลลงกว่าเดิม และยังจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคน สร้างสังคมที่เชื่อมต่อกันและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นภายใต้เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) รวมไปถึงพัฒนาระบบต่างๆ ที่เป็นหัวใจหลักขององค์กร และระบบอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ระบบ 5G ที่มีคลื่นความถี่ (Spectrum) รองรับอย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมต่างๆ สามารถให้บริการได้ดีขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ระบบจัดการเหตุฉุกเฉิน การประยุกต์ใช้อุปกรณ์และเครือข่าย IoT ในสนามบินอัจฉริยะ การขนส่งและคมนาคมอัจฉริยะ การเกษตรยุคใหม่ และอาคารอัจฉริยะ คือตัวอย่างบางส่วนที่ 5G จะเข้ามาเป็นตัวพลิกเกม และยังมีอีกหลายกรณีที่มีการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ ซึ่งอินเทลกับพันธมิตรในประเทศไทยจะร่วมกันพัฒนาต่อไปในอนาคต
IoT เร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล
การนำเทคโนโลยี IoT มาใช้งานถือเป็นก้าวสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลในประเทศไทยให้เป็นไปตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ได้วางกลยุทธ์ที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ครอบคลุม 77 จังหวัดภายในปี 2566
ธุรกิจค้าปลีกเริ่มหันมาใช้ป้ายโฆษณาอัจฉริยะ ภาคธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับใช้โซลูชัน IoT เพื่อสร้างบ้านและอาคารอัจฉริยะที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพด้านพลังงานที่มากขึ้น ธุรกิจด้านการผลิตก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่นำ IoT และระบบอัตโนมัติระดับอุตสาหกรรมมาปรับใช้เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต บริหารจัดการต้นทุน และทำให้โรงงานมีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับพนักงาน
ซานโตช กล่าวว่า “เราเล็งเห็นว่าการริเริ่มโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนนำ IoT มาปรับใช้ เช่น ในปี 2562 เทอร์มินัลที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภาได้มีการนำโซลูชันรักษาความปลอดภัยด้วยการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ของอินเทลมาปรับใช้ ดังนั้น ธุรกิจ IoT ยังคงมีการเติบโตอย่างสูงในประเทศไทย และอินเทลอยู่ในสถานะที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตนี้ในการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในระบบนิเวศท้องถิ่นได้”
เพิ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้โปรเซสเซอร์ ขนาด 10nm
อินเทลวางแผนจะร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วน (OEM) เพื่อนำผลิตภัณฑ์อุปกรณ์และคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานโปรเซสเซอร์รุ่นที่ 10 มาสู่ตลาดไทยมากยิ่งขึ้น วางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมโปรเซสเซอร์เช่นเดียวกับ “Ice Lake” ขนาด 10nm ตัวอื่นๆ อีก และจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์การ์ดจอแยก (Discrete GPU) ตัวแรกของอินเทล
อินเทลช่วยเหลือนักพัฒนาซอฟต์แวร์และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่สนใจพัฒนาแอปพลิเคชันและโซลูชันที่สามารถเลียนแบบวิสัยทัศน์ของมนุษย์ โดยการเผยแพร่ข้อมูลเครื่องมือ OpenVINO ของอินเทล ช่วยยกระดับโซลูชันผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น CPU GPU VPU และ FPGA และให้ได้รับประสิทธิภาพเต็มรูปแบบจากฮาร์ดแวร์ และมอบ “One API” โปรเจ็กต์ซอฟต์แวร์เครื่องมือช่วยให้นักพัฒนาได้มีรูปแบบการเขียนโปรแกรมที่เป็นหนึ่งเดียว ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชันง่ายขึ้นท่ามกลางสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย
สำหรับธุรกิจอินเทลในปี 2562 ที่ผ่านมา นอกจากเปิดตัวโปรเซสเซอร์สำหรับคอมพิวเตอร์ PC แล้ว อีกด้านหนึ่งอินเทลยังมุ่งเน้นโซลูชันการใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (Data-Centric) ในประเทศไทย
ในปี 2562 การเติบโตในธุรกิจ Data-Centric ในประเทศไทยมาจากหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการในประเทศด้านระบบคลาวด์ (Cloud Service Providers หรือ CSPs) สถาบันด้านการวิจัยและการศึกษา นอกจากนี้ อินเทลกำลังทำงานร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม ชั้นนำของไทยเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ เพื่อปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย เตรียมความพร้อมสำหรับสถาปัตยกรรม IoT และ Edge Computing
อินเทลให้บริการการประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High-Performance Computing หรือ HPC) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และฝึกอบรมนักวิจัยและวิศวกรกว่า 50 คน ในด้านระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยของหน่วยงาน