กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า จัดแข่งขัน “นำเสนอผลงานวิจัยด้านอวกาศ ภายใต้โครงการ Space Experiment Ideas Contest หรือ SEIC” ระดับอุดมศึกษา รอบชิงชนะเลิศ ผลปรากฏว่าทีม Biolock จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้าสุดยอดไอเดียฯ ในงานมหกรรมอวกาศระดับนานาชาติ 2019 ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี
ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานอธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศของจิสด้า กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้เป็นการจุดประกายความคิดของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ให้มีความสนใจในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อวกาศให้มากขึ้น เนื่องจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ณ วันนี้ มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศแทบทั้งสิ้น และให้ทุกคนได้ตระหนักว่า “อวกาศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไปแล้ว”
สำหรับ 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบมาประชันความสามารถกัน ประกอบด้วย
- ทีม BIOLOCK นำเสนอไอเดีย การควบคุมการปลดปล่อยยาจากนาโนแคปซูลภายใต้ zero-g สำหรับป้องกันแบคทีเรียที่สร้าง Biofilm
- ทีม NANOTECHNOLOGY TEAM นำเสนอไอเดีย Photocatalytic disinfection activities on Enterobacter strains of bacteria using bio-synthesized metal doped Zinc Oxide nanocomposites at zero gravity
- ทีม YOUNG GEN INNO-GRAVITY นำเสนอไอเดีย มิติอุจจาระในห้วงอวกาศ โดยทั้ง 3 ทีมมาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ทีม WEIRD นำเสนอไอเดีย Biophysical analysis of effect of microgravity to vital organ in developmental phase จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ทีม KMUTT – BEE KING นำเสนอไอเดีย การศึกษาพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของผึ้งต่อสิ่งเร้าหรือแสงภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง Relation of bee’s movement and behavior to stimulus or light in zero-gravity state จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ทีมส้มบางมด นำเสนอไอเดีย Hydrulic Zero-G จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ทีม PROJECT PEGASUS นำเสนอไอเดีย Bagnosis DCN ชุดกล้องประมวลผลภาพแบคทีเรียผ่านกล้องจุลทรรศน์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ทีม PANIC MONSTER นำเสนอไอเดีย The influence of microgravity environment on Ethanol dioxide production of Saccharomyces cerevisiae จากมหาวิทยาลัยมหิดล
- ทีม GRAVITY TWO นำเสนอไอเดีย Sponge Powder Space จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ทีม ARCHAEO GO GO นำเสนอไอเดีย การวิเคราะห์ปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินด้วยวิธีการไทเทรตในสภาวะไร้น้ำหนัก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
สำหรับผลการแข่งขันในครั้งนี้ ทีม Biolock จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ กับไอเดียผลงาน “การควบคุมการปลดปล่อยยาจากนาโนแคปซูลภายใต้ zero-g สำหรับป้องกันแบคทีเรียที่สร้าง Biofilm” โดยจะได้รับสิทธิ์การต่อยอดในโครงการ Space Experiment Ideas Contest ไปสู่การทดลองในอวกาศต่อไป

“การแข่งขันดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ซึ่งจิสด้าและหน่วยงานร่วมต่างก็มุ่งหวังที่จะเห็นนิสิต นักศึกษาได้รู้จักใช้เวลาว่างที่นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน หันมาสนใจกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราให้มากขึ้น โดยนำคุณค่าที่ได้รับจากงานวิจัยมาพัฒนาเป็นกระบวนการคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ หรือในอีกด้านหนึ่งคือส่งเสริมและกระตุ้นให้นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆด้านอวกาศที่ ณ วันนี้จะไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป และยกระดับการศึกษาวิจัยของประเทศให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก โดยเฉพาะด้านการสำรวจอวกาศ และการทดลองวิทยาศาสตร์ในสภาพแวดล้อมอวกาศอีกด้วย” ดร. ดำรงค์ฤทธิ์ กล่าว