“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด วันที่ 2-3 พ.ค. นี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 5-5.25% ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว เป็นผลมาจากปัญหาภาคธนาคารและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงต่อไป
ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่แม้จะลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งในปัจจุบันยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเฟด วันที่ 2-3 พ.ค. นี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงหลังจีดีพีในไตรมาส 1 ปี 66 ขยายตัว 1.1% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 2%
นอกจากนี้ ได้คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. นี้ อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายแล้ว ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลให้เฟดให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและพิจารณาหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังการประชุมเฟดที่จะถึงนี้ โดยเฟดคงมีมุมมองว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5-5.25% น่าจะเพียงพอที่จะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ออกมา โดยจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในระยะข้างหน้า จึงมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้ โดยตลาดส่วนใหญ่มองว่าดอกเบี้ยนโยบายของเฟดสิ้นปี 66 จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.50-4.75%
แต่หากราคาน้ำมันพลิกกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งจากความเสี่ยงด้านปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันของโอเปกพลัสก็ยังมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้นต่อหรือทรงตัวในระดับสูงต่อไป ซึ่งอาจส่งผลให้เฟดพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปสูงเกินกว่า 5-5.25%